การนอนกัดฟัน (Bruxism)
การนอนกัดฟัน (Bruxism)
เป็นการขบเคี้ยวฟันที่ไม่ใช่การทำงานตามหน้าที่ที่ถูกต้อง อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ หรืออาจเกิดขึ้นได้ในเวลากลางวัน ขณะที่นั่งทำงานเผลอๆ หรือในขณะที่มีความเครียด การนอนกัดฟันมักจะเกิดขณะที่นอนหลับไม่ลึก หรือหลับไม่สนิท การใช้ฟันขบเขี้ยวเคี้ยวกันในเวลาที่ไม่ได้กินอาหาร เชื่อว่าเป็นการทำงานที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น และไม่เกิดผลดีใดๆ มีแต่ผลเสียต่างๆ ดังนี้
- กล้ามเนื้อทำงานมากกว่าปกติ
- ฟันสึก
- ทำให้ปวดที่ข้อต่อขากรรไกรได้
การนอนกัดฟัน ทำให้ฟันในปากสึกกร่อนเร็วกว่าปกติมีอาการเสียวฟัน และอาจจะทำให้ฟันแตกได้ บางรายทำให้เกิดการเจ็บบริเวณหู เจ็บข้อต่อขากรรไกร และถ้าฟันสึกมากๆ อาจจะทำให้ใบหน้าสั้นกว่าปกติ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ก่อให้เกิดความรำคาญ และเสียสุขภาพจิตแก่คนนอนร่วมห้องเดียวกัน
อาการนอนกัดฟันที่เกิดขึ้นมานั้นอาจจะไม่มีผลเสียใดๆ ต่อโครงสร้างต่างๆ ภายในช่องปากเลย หรืออาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นได้มากมายเลยก็ได้ อาการที่มักจะเกิดเมื่อมีอาการนอนกัดฟัน คือ ฟันสึกอย่างรุนแรง เกิดอาการปวด ตึง หรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เกิดความผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร อาการปวดศีรษะ อาจพบว่าในผู้ที่ใส่ปลอมแบบติดแน่นอยู่ ฟันปลอมที่ใส่อาจจะถูกทำลายลงในระยะเวลาเพียง 6-9 เดือน อ้าปากไม่ขึ้น มีเสียงดังที่ข้อต่อขากรรไกรขณะอ้าหรือหุบปาก ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงอาการใดอาการหนึ่ง หรือเกิดพร้อมๆ กันทุกอาการเลยก็ได้
อาการ
- ลักษณะการเกิดอาการนอนกัดฟัน จะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และพบว่าแม้แต่ในผู้ป่วยคนเดียวกัน จะมีอาการนอนกัดฟันที่แตกต่างกันไป ในการนอนแต่ละคืนอีกด้วย
- พบว่าการนอนกัดฟันมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์ กับความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือเกิดในช่วงชีวิตของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการนอนกัดฟัน ในช่วงสัปดาห์ที่มีปัญหาเรื่องงาน ในสตรีที่กำลังมีรอบเดือน หรือในผู้ป่วยบางคนก็อาจจะไม่มีระยะเวลา หรือวงจรที่แน่นอนของการนอนกัดฟันก็ได้
- ผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกัดฟันอยู่ พบว่ามีเพียง 10% ของผู้ใหญ่ และ 5% ของเด็กที่นอนกัดฟันเท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกัดฟัน ซึ่งคนเหล่านั้นมักจะทราบว่าตัวเองนอนกัดฟันจากการได้ยินเสียงนอนกัดฟันของตัวเอง หรือจากเพื่อน หรือคนที่นอนใกล้ๆ แจ้งให้ทราบ
สาเหตุ
- เกิดจากมีสิ่งกีดขวางการทำงานของฟันในขณะบดเคี้ยว สิ่งกีดขวางเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกัดฟันหรือขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขึ้น หรืออาจเกิดจากโรคปริทันต์ที่มีการเจ็บปวดพื้นผิวของริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เป็นต้น
- มีการศึกษามากมาย ที่พยายามจะอธิบายถึง สาเหตุของอาการนอนกัดฟัน และมีหลักฐานยืนยันแล้วว่า สภาพของจิตใจและอารมณ์ มีส่วนสัมพันธ์กับการนอนกัดฟัน ระดับอาการของการนอนกัดฟัน จะมีความแตกต่างกันมากในผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะมีส่วนสัมพันธ์กับความเครียด ภาวะอารมณ์ และภาวะฉุกเฉินที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น การหย่าร้าง การตกงาน หรือช่วงการสอบคัดเลือก เป็นต้น ความวิตกกังวลในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็สามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ ประสบการณ์ทางอารมณ์ในช่วงที่เราตื่นนอนอยู่ จะไปมีอิทธิพลต่อช่วงที่เรานอนหลับได้ในหลายๆด้าน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีท่านใดสามารถหาคำอธิบายถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้ได้
- ความเครียดทางจิตใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันได้ในขณะที่อยู่เฉยๆ หรืออาจจะ เกิดในขณะนอนหลับได้ ความเครียด ทางจิตใจที่เกิดจากการข่มระงับ อารมณ์ไว้ ไม่ให้แสดงความก้าวร้าว ดุดัน อารมณ์เคร่งเครียดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการนอนกัดฟัน
- บางรายอาจเกิดจากการฝัน การสบขอบฟันที่ผิดปกติ ฟันซ้อนเก โรคในช่องปาก ฟันผุ เหงือกอักเสบ
- ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกัดฟันจะมีบุคลิกภาพ และอารมณ์แตกต่างจากคนปกติทั่วไป กล่าวคือ จะมีบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มที่จะเกิด หรือเพิ่มความเครียดได้ง่าย เป็นคนที่มีอารมณ์ก้าวร้าว และเป็นคนที่วิตกกังวลได้ง่าย แต่มักไม่พบว่ามีความผิดปกติ ของระบบประสาทเข้ามาร่วมด้วย
- อาการนอนกัดฟัน อาจมีสาเหตุมาจากยาที่รับประทานก็ได้ ยาที่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ คือ แอมเฟตามีนที่ใช้ร่วมกับ L-dopa, ยา fenfluramine ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน และมีรายงานว่า พบการนอนกัดฟันในผู้ป่วยที่เป็นโรค Tardive Dyskinesia ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการใช้ยา phenothiazine เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จะสามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้
การวินิจฉัย
- จากประวัติอาการ
- พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสภาพการทำงานของฟันขณะบดเคี้ยว
- ในผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันทั้งหมด จะมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่จะทำให้เกิดเสียงที่สามารถได้ยินได้ ดังนั้นการที่จะให้การวินิจฉัยว่าตัวเองนอนกัดฟันนั้น จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยการตรวจอย่างละเอียดโดยทันตแพทย์ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาองค์ประกอบอีกหลายๆ อย่าง อาทิเช่น ลักษณะการสึกของฟัน ลักษณะของกล้ามเนี้อ และอื่นๆ โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขากรรไกรเมื่อตื่นนอนขึ้นมา มักจะเป็นลักษณะที่พบมากในคนที่นอนกัดฟัน
การรักษา
- เมื่อทันตแพทย์ปรับการสบของฟันให้ถูกต้องแล้ว การนอนกัดฟันอาจจะลดน้อยลงหรือหายไป หรือทันตแพทย์จะต้องแก้ไขโรค ปริทันต์ พื้นผิวของริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ที่มีการระคายเคืองออกให้หมด จะช่วยลดการนอนกัดฟันได้
- แก้ไขสาเหตุของความ เครียด แต่ในขณะที่ยังแก้สาเหตุความเครียดไม่ได้ ให้พบทันตแพทย์เพื่อทำเครื่องมือไปใช้ใส่ขณะนอน เพื่อป้องกันไม่ให้กัดลงบนฟันแต่ให้กัดลงบนเครื่องมือแทน ฟันจะได้ไม่สึก
- การใส่เครื่องมือนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยหรือความเคยชินในการขบเขี้ยวเคี้ยวลักษณะเดิมได้ ซึ่งต่อไปสักระยะหนึ่งจะทำให้เลิกนอนกัดฟันได้
- การทำสมาธิเพื่อให้นอนหลับสนิท รวมถึงการกินยานอนหลับและยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอนคงทำให้อาการลดน้อยลง
- การใส่เฝือกฟันบนและ/หรือฟันล่างตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ใส่นอนไปชั่วระยะเวลาหนึ่งอาการจะดีขึ้น การทำเฝือกฟันนั้นไม่ยาก เพียงไปพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบและทำเฝือกฟันเฉพาะบุคคลซึ่งมีลักษณะคล้ายกับยางกันฟันของนักมวยหรือนักกีฬา
- ราคาการทำเฝือกฟันโดยประมาณ 300-500 บาท หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเฝือกฟัน
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น